แรงบันดาลใจมาจากไหน ? และบันทึกว่าด้วยวิธีการสเก็ตซ์และขยายงานเป็นภาพจริง
How to find your inspirations, transform it to a series of sketchs, and develop it to final artwork.
*
*
:: Jesús Cisneros’s illustration course 10 – 15 April 2017 at Scuola Internazionale d’Illustrazione di Sàrmede :: [ part 1 , part 2 ]
*
*
*
“A herbarium is a classification, a system that arranges the plant world. In the exercise we will combine the structure and rigorous classification with pictorial language. We will not collect plant species and subspecies but instead colors, lines, and textures.” – Jesús Cisneros
จากบันทึกตอนแรกที่เล่าไว้ว่า เปิดคลาสมาครูแจกซองพลาสติกใสให้ทุกคนแยกย้ายไปเก็บดอกไม้และพืชพรรณที่ตัวเองสนใจนำกลับมาพักไว้ที่ชั้นเรียน หลังจากนั้นพวกเราเรียนทำภาพพิมพ์ oil transfer อย่างที่ได้เล่าไว้ในตอนที่สอง หลังทำภาพพิมพ์เสร็จ ครูบอกให้เอาพืชทั้งหมดมาวางเรียงกันบนโต๊ะใหญ่ (ซึ่งโต๊ะที่โรงเรียนจะปูด้วยกระดาษทิชชู่เนื้อหนาแบบ Paper Towel ที่บ้านเราใช้กันในครัว แต่ขนาดจะใหญ่กว่ามาก จับม้วนกระดาษตั้งจะสูงเท่าตัวคน) พืชที่มีลักษณะรูปทรงคล้ายกันให้จัดกลุ่มอยู่ด้วยกัน ครูไม่ได้ให้จัดพืชตามสปีชีส์ แต่ให้จัดตามสี รูปทรงและพื้นผิว ผลที่ได้คือป่าขนาดย่อม
*
*
*
*
*
สำหรับเรา นี่เป็นตัวอย่างชั้นเยี่ยมของการหาข้อมูลและแรงบันดาลใจเพื่อนำมาวาดภาพ ครูใช้วิธีการคล้ายกับตอนที่ให้ค้นหาและคลี่คลายรูปทรงจากตัวอักษรทั้งอังกฤษและไทยในวันแรก แต่ครั้งนี้เราใช้ทั้งรูปทรง สี และพื้นผิว จากดอกไม้จริง
*
*
*
*
ครูสาธิตเทคนิคสำหรับการวาดในครั้งนี้ นั่นคือการผสมผสานกันระหว่างการระบาย วาดเส้น และขูดขีดลงพื้นพื้นผิวของสีชอล์กน้ำมันและสีน้ำมัน + การใช้เทคนิค oil transfer ที่ได้เรียนมาแล้ว
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าบทเรียนนี้เราไม่ได้จะมาวาดให้เหมือนจริง หลักๆ เราใช้เพียงแค่รูปทรงและพื้นผิวของพืชพรรณมาเป็นแรงบันดาลใจ จะต้องวาดภาพเล็กๆ ทั้งหมด 12 ภาพ ส่วนสีนั้นครูไกด์ให้ว่าใน 12 ภาพนี้ควรใช้สีที่มีความคอนทราสกันมากๆ แต่ก็ยังดูเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันอยู่ (เพื่อที่จะนำเข้าสู่การทำงานขั้นถัดไป แต่ครูยังไม่บอกว่าเกี่ยวกันอย่างไร) เซ็ตข้างล่างนี้เป็นงานที่ครูทำขึ้นให้ดูเป็นตัวอย่างในชั้นเรียน ส่วนใหญ่จะดรอปสี และมีพาสเทลมาตัดกับสีสดๆ อย่างเขียวและเหลือง บางภาพคือตัดดำไปเลย
*
*
*
*
พอแยกย้ายกันไปทำงาน เราพบว่าวิธีการเลือกใช้ชุดสีของแต่ละคนนั้นน่าสนใจมากๆ รูปข้างล่างนี้รูปแรกเป็นการเลือกใช้สีสดใสของแมงโก้ เพื่อนคนไทยที่ไปเรียนด้วยกัน ส่วนรูปถัดมาเป็นภาพบนโต๊ะของคลอเดียและโรซานนา ชาวอิตาเลียน
*
*
*
ระหว่างนี้ครูจะคอยมาช่วยเลือกว่าโดยรวมควรเพิ่มหรือลดโทนสีอะไร ซึ่งดีมาก เพราะเราเองพอได้โจทย์แบบนี้ภายในเวลาอันจำกัดก็เริ่มเตลิดและใช้สีค่อนข้างมั่วเหมือนกัน
*
*
*
สุดท้ายคือได้ภาพรวมออกมาเป็นแบบรูปข้างล่างค่ะ ได้ 12 ภาพครบ เพิ่มดำเข้าไปให้สมดุลกัน มาจนถึงตอนส่งงานเซ็ตนี้ก็ยังจับทางไม่ถูกอยู่ดี เพราะพวกนี้เป็นกลุ่มสีที่เราไม่ค่อยได้ใช้ คงต้องใช้เวลาสักพักในการทำความคุ้นเคยกับระบบสีแบบนี้
*

*
ซึ่งพอหันมาดูงานของเพื่อนๆ ก็พบว่าโอ้โห! ใช้สีกันเก่งมากๆ !! เซ็ตข้างล่างนี้เป็นของเอเลน่า สาวอิตาเลียนที่น่าจะอายุน้อยที่สุดในชั้น สีเสื้อของเอเลน่าเหมือนกับสีที่เธอใช้ในงานไม่มีผิด
*

*
ภาพข้างล่างนี้เป็นของนิโคล สาวไต้หวัน ซึ่งภาพของเธอหลงติดกระเป๋าเรากลับมาไทยด้วยสองภาพ (พื้นสีเขียวและพื้นสีส้ม แถวบนสุดนับจากทางขวา) ไม่รู้เหมือนกันว่ามาได้ยังไง จำได้ว่าตอนจบคอร์ส นิโคลบอกว่าเซ็ตที่เป็นดอกไม้จากตัวอักษรเธอโยนทิ้งถังขยะหมดเลยนะ ไม่เอากลับไต้หวัน ส่วนเราบอกว่าฉันเอากลับหมดเลยทุกสิ่งทุกอย่าง!
*

*
สังเกตดูว่าเพื่อนๆ จะคลี่คลายรูปทรงและใช้พื้นผิวกันได้เก่ง อย่างเซ็ตข้างล่างนี้ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นของจูเลีย ทำตรงตามโจทย์เป๊ะเลย ใช้สีคอนทราสกันเก่งมาก รูปทรงจะเล็กๆ อยู่ตรงกลาง
*

*
พอมาเป็นงานของโจอันนาผู้มาจากเยอรมัน รูปทรงจะใหญ่เต็มพื้นที่กระดาษ ชัดเจนเห็นง่าย บางอันก็มีเว้นสเปซสวยงาม โจอันนนาขยันมาก ทำเกินมาตั้ง 4 ภาพ
*

*
ส่วนเซ็ตนี้เราจำได้แม่น เป็นของเคียร่า (เคียร่าเป็นคนที่แอคทีฟใน instagram พอสมควร ดังนั้นเราจะเห็นข่าวคราวงานของเธออยู่เป็นระยะๆ หลังจบคอร์สนี้เคียร่าก็มีนิทรรศการร่วมกับทางโรงเรียน และทำภาพประกอบให้หนังสืออีกหนึ่งเล่มด้วยนะ ติดตามงานของเคียร่าได้ที่ลิงก์นี้ )
*

*
สองเซ็ตสุดท้ายนี้ไม่แน่ใจว่าของใครเป็นของใคร ระหว่างคลอเดียกับโรซานนา แต่สมกับที่อยู่โต๊ะเดียวกันจริงๆ
*
*
*
หลังจากนั้นทุกคนเอางานมาดูร่วมกัน ครูมอบหมายโจทย์ใหม่ให้ เราจะขยายเป็นชิ้นงานจริงจากภาพเล็กๆ เหล่านี้ค่ะ
*
*
*
วิธีการเป็นดังนี้
“We will also relate each image with a concept.
1. Create a list of words with opposite concepts: day/night; land;water; moon/sun.
2. Independently, create a series of images with plant motifs. Use, in these images, all the possibilities of graphic design vocabulary: point, line, spot, and geometry.
3. Join words and images.” – Jesús Cisneros
ให้มาดูว่าคู่คำไหนเป็นคู่คำที่เราชอบและพอจะจับคู่เข้ากับรูปได้
*
*
*
แล้วจึงนำมาขยายเป็นงานจริงค่ะ สรุปว่าเราจะมีรูปใหญ่คนละสองรูป ที่มีความหมายตรงกันข้ามกัน นี่คืองานของทุกคนเมื่อนำมาเรียงรวมกัน
*
*
*
*
*
*
*
*
*
*
เวลาทำสเก็ตซ์ เรามักจะทำสวยกว่าภาพจริงเสมอ แน่นอนว่าเป็นอย่างนั้นเพราะเวลาทำเสก็ตซ์เราผ่อนคลาย เราไม่คิดอะไรมาก แต่เมื่อไหร่ที่พอเรารู้ว่าต้องขึ้นงานจริงปุ๊ป จะเกิดอาการเกร็งกันขึ้นมา ดังนั้นก่อนที่จะมาถึงการทำภาพจริงนี้ ครูจึงได้สอนลำดับเทคนิคต่างๆ ที่จะช่วยให้เราไม่เกร็งจนเกินไปนัก และมีแนวโน้มที่จะได้งานที่ดีออกมา
สเก็ตซ์เป็นแค่ไกด์ไลน์ของงาน เวลาขยายสเก็ตซ์ไปเป็นภาพจริงเราไม่จำเป็นต้องยึดตามนั้นไปเสียหมด แค่จับ mood and tone ของมันแล้วนำไปพัฒนาต่อค่ะ การทำเหมือนสเก็ตซ์เป๊ะๆ แค่ขยายให้ใหญ่ขึ้น อาจจำเป็นสำหรับงานบางประเภท แต่งานอีกหลายประเภทไม่ใช่แบบนั้น กระบวนการอย่างในเวิร์กชอปนี้จะทำให้เราเรียนรู้ว่าเรามีศักยภาพที่จะไปต่อมากแค่ไหนค่ะ
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ที่เข้ามาอ่านนะคะ และต้องขอโทษด้วยที่เว้นไปนานมาก บล็อกเซ็ตนี้เราเริ่มเขียนตั้งแต่ปีก่อน (2560) แต่มาเสร็จเอาปี (2561) นี้ได้เพราะแรงกระตุ้นจากการเห็นภาพผลงานของพี่คนไทยที่ไปเรียน Sarmede ในปีนี้ค่ะ มันทำให้เราตกใจมากเพราะเป็นการเตือนตัวโตๆ เลยว่านี่เวลาผ่านไปอีกหนึ่งปีจริงๆ แล้วนะ (Sarmede จะมีคอร์สทุกปี) ถ้าไม่เขียนให้จบในตอนนี้ก็อาจจะเขียนไม่จบอีกเลยก็เป็นได้ ^^
หวังเหมือนกันว่าในปีหน้าหรือปีถัดๆ ไป เราจะมีโอกาสได้ไปเรียนที่นี่อีกค่ะ
ไว้จะมาแชร์ประสบการณ์เรื่อยๆ นะคะ
*** : ) ***