[Thai language]

Visual Narrative elective class: My Beloved Picture Books (1)
Visual Narrative elective class: My Beloved Picture Books (2)
(8)
มีความทรงจำสองเรื่องสั้น ๆ ที่ยังคงอยู่ในใจตลอดเวลา
เรื่องแรก : นักเขียนและนักวาดภาพประกอบหนังสือภาพสำหรับเด็กท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า นอกจากงานทำหนังสือภาพและสอนตามมหาวิทยาลัยศิลปะ/คอร์สเวิร์กช็อป Summer School แล้ว ในหนึ่งปีนั้นจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เธอจะหยุดพักและออกไปท่องเที่ยวเป็นการ refresh ร่างกายตนเอง เธอมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหลังเนื่องมาจากการจัดวางท่าทางที่ไม่ถูกต้องขณะทำภาพพิมพ์ จนคุณหมอได้บอกกับเธอว่าถ้าหากเธอยังไม่เปลี่ยนวิธีการทำงาน ร่างกายเธอจะไม่ไหวแน่ ๆ งานที่รักกลายมาเป็นสาเหตุการเจ็บป่วย
เรื่องที่สอง : นักวาดภาพประกอบอีกท่านหนึ่งเคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับการทำงานของตัวเองเอาไว้ว่า ยิ่งนานวันเข้า โปรเจคหนังสือที่เขาเริ่มทำก็ดูจะยิ่งห่างไกลจากความเป็นจริงออกไปทุกที ๆ เขาต้องทำงานเพื่อหาเงินมาเป็นทุนให้กับการทำหนังสือ แต่ด้วยการทำแบบนั้นมันได้เรียกร้องเอาเวลาที่ควรจะใช้ในการทำหนังสือไปจากเขา และเมื่อเวลาผ่านไปการสเก็ตช์งานต่อจากงานเดิมก็หลายเป็นเรื่องยาก เพราะภาพวาดของเขาได้เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ดังนั้นเพื่อให้ภาพสอดคล้องกันเขาต้องรื้อแก้งานเก่าทุกครั้งที่เริ่มงานใหม่ (สุดท้ายนักวาดภาพประกอบท่านนี้ได้ทุนจาก CNL ทำให้โปรเจคลุล่วงไปได้ด้วยดี)
(9)
When My Dream Boat Comes Home เป็นโปรเจคหนังสือภาพที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวีของประกาย ปรัชญา ว่าด้วยชีวิตของชายวัยกลางคนผู้หนึ่งที่เมื่อกลับบ้านแล้วก็ไปพบว่าทุกอย่างที่บ้านเกิดได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว รวมไปถึงคนรักของเขาด้วย เรานำไปเป็นตัวอย่างให้น้องๆ นิสิต ComDe ได้ดูกันหลังจากผ่านชั่วโมงแรกซึ่งเป็นการพูดคุยกันเกี่ยวกับหนังสือภาพที่รักไป
โปรเจคซึ่งยังอยู่ในกระบวนการทำงาน และยังไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จลงได้ง่ายก็นำพาคำถามที่ตอบยากแสนยากมาให้กับเราผู้บรรยาย เช่น มันจะเป็นการทำงานแบบไม่รู้จบไหม มันจะกลายเป็นแค่การเปลี่ยนเทคนิคไปเรื่อยๆ ไหม งานจะมีความนามธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วมันจะไปจบตรงที่ไหน นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมการเขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึงหยุดชะงักมาตั้งแต่เดือนมีนาคม คำตอบก็คือ การเรียบเรียงความคิดและคำตอบหลังจากคลาสจบลงไปแล้วนั้นเป็นเรื่องยากเย็นสำหรับเราเหลือเกิน
(10)
เราแบ่งงานที่ทำออกเป็นสามช่วง ได้แก่ สีน้ำและหมึก ดรอว์อิ้งและคอลลาจ และสุดท้ายคือ Mixed Media
คงคล้ายกับชนิดและระดับภาษาที่เราใช้พูด การสื่อสารโดยใช้ภาพก็มีชนิดและระดับภาพที่ผู้วาดต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่ต้องการถ่ายทอดออกไป ความยากของโปรเจคนี้อยู่ที่ว่าในเบื้องต้นเรามี text บทกวีเป็นตัวนำการวาดภาพ การตีความของเราอาจะไม่ลึกซึ้งซับซ้อนอะไร แต่ในขณะที่เสก็ตช์ไปเรื่อยๆ นั้นเราก็พบว่าการโฟกัสที่ text เริ่มลดน้อยลงและเริ่มแทรกเนื้อเรื่องบางส่วนที่เกี่ยวกับวัยเด็กและครอบครัวของตัวเองเข้ามา การตีความก็เริ่มซับซ้อนขึ้น เมื่อผสมกับแรงบันดาลใจอื่นๆ ที่ได้รับเข้ามาจากหลากหลายทางก็ทำให้เส้นเรื่องของโปรเจคหนังสือภาพเริ่มไม่คงที่ พูดง่ายๆ คือเราเริ่มหลงทางนั่นเองว่า When My Dream Boat Comes Home จะพูดเกี่ยวกับอะไรกันแน่ : )
บางช่วงที่จำเป็นต้องหยุดโปรเจคไปเพราะรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ต้องหยุดเพื่อขอระยะห่าง หรือหยุดไปเพื่อทำงานอื่นๆ เมื่อกลับมาทำก็พบว่าภาษาภาพที่เราใช้มันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จากการเล่าแบบตรงไปตรงมาของสีน้ำและหมึกนำไปสู่การปิดทับขูดขีดของการดรอว์อิ้งและคอลลาจ มาจนถึงความโกลาหลของการใช้สื่อผสมในปัจจุบัน(2016) ทุกครั้งที่ภาษาภาพได้เปลี่ยนไป การตีความที่มีต่อเส้นเรื่องของโปรเจคนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย
(11)
เราพบว่าในฐานะ Facilitator ของคลาส คุณครูโอ๊ตได้เสนอบางอย่างที่น่าสนใจมากๆ ให้กับเด็กๆ จากเคสตัวอย่างของเรานั่นคือ “สไตล์สามารถเปลี่ยนแปลงได้”
หากมองในฐานะนักวาดภาพประกอบที่ต้องขายงานให้ตลาด สไตล์ที่มั่นคงและชัดเจนจะมีผลต่อการจำแนกแจกแจงผลงานของลูกค้าและ/หรือเอเจนซี งานที่ขายได้ต้องมีความต่อเนื่องและมีความเฉพาะตัวสูง อย่างไรก็ตามสไตล์การวาดที่เปลี่ยนแปลงไปมักมาพร้อมกับความคิดและมุมมองที่เติบโตขึ้น ดังนั้นเรื่องในแง่การพัฒนาตนเอง สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างใด
(12)
นิทรรศการ When My Dream Boat Comes Home
วิธีที่ดีที่สุดในการมองย้อนกลับไปในงาน(ภาพ)ของตัวเอง นอกจากจัดวาง-เรียบเรียงด้วยวิธีของการทำหนังสือเล่มแล้ว การจัดนิทรรศการก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถมองเห็นภาพรวมของตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างเช่นที่คุณครูโอ๊ตได้บอกไว้ว่า งานแบบนี้ทำไปตลอดชีวิตนั่นแหละ แต่บางทีอาจจะถึงเวลาที่ต้องรวบปากถุงงานเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าได้แล้ว
ภาพนี้ถ่ายขึ้นเมื่อราวกลางเดือนมิถุนายน 2559 ที่ร้าน Books and Belongings ขณะปรึกษากันเรื่องการวางแผนจัดนิทรรศการ When My Dream Boat Comes Home สามเดือนให้หลังจากโพสต์แรกที่เราเขียนถึง คำถามหลายข้อของน้องๆ ComDe ยังคงวนเวียนอยู่ในใจเสมอ
(13)
“เหมือนกระจกซึ่งสะท้อนภาพของตัวเรา
งาน(ของเซมเป้)เพียงเชื้อเชิญเราไปสู่การทบทวนตัวเองด้วยรอยยิ้ม
พร้อมการเสียดสีที่เจ็บปวดแต่มีความเห็นอกเห็นใจ”
มาร์ก เลอกาปงติเย่ร์
นักข่าว, อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการและประธานของเตเลรามา
แปลโดยธารริณ อดุลยานนท์
คลาสที่ ComDe ในครั้งนี้ก็เช่นกัน การได้มีโอกาสบอกเล่าความหลงใหลของตัวเองให้คนอื่นได้ฟังนั้นเป็นเหมือนกระจกซึ่งสะท้อนภาพตัวเรา(แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตามที) มันทำให้เราได้กลับมาทบทวนว่าสิ่งไหนที่เรากำลังให้ความสำคัญอยู่ และทางเส้นไหนที่เรากำลังจะมุ่งหน้าเดินต่อไป กระบวนการแบบนี้เป็นสิ่งที่เชื้อเชิญเราไปสู่การทบทวนตัวเองด้วยรอยยิ้มและแน่นอนว่าพร้อมๆ ไปกับการเสียดสี(ต่อการสะดุดล้มต่างๆ นานาของเราเอง)ที่มีความเห็นอกเห็นใจด้วยเช่นกัน และที่สำคัญมันทำให้เราตระหนักด้วยว่า ประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมานี้ (หนังสือต่างๆ ที่เคยอ่าน เทศกาลต่างๆ ที่เคยไป โปรเจคที่ทำอยู่) มันเป็นประสบการณ์ที่เก่ามากแล้ว ความคิดความเข้าใจหลายอย่างก็นำมาใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน ที่ทางและสถานการณ์ใหม่ๆ ต่างหากที่จะทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ต่อไป : )