ตามไปดูกันว่าเราเรียนอะไรกันบ้างใน Visual narrative class ที่ CommDe เมื่อวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ค่ะ ขอขอบคุณน้องโอ๊ต มณเฑียร ที่ชวนไปแชร์ประสบการณ์สนุกๆ (ที่มีทั้งกระบวนการวาดภาพของเราเองและคลังหนังสือภาพสวยๆ ที่เรารัก) เป็นปีที่สอง รวมไปถึงเอื้อเฟื้อภาพถ่ายบรรยากาศในคลาสที่นำมาลงไว้ในนี้ด้วยค่ะ [โพสต์นี้มีภาพทั้งหมด 16 ภาพ และลิสต์รายชื่อหนังสือทั้งหมดในตอนท้าย + ลิงก์อธิบายเบื้องหลังกระบวนการทำหนังสือในบางเล่มค่ะ]
หลังฉายสไลด์แนะนำตัวกันเล็กน้อยเราก็มาเริ่มกันที่งานภาพประกอบลายเส้นตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อนกับมติชนนั่นก็คือเรื่อง ขบวนการเด็กหญิงปากตลาด (ซึ่งตอนนี้ out of stock ไปจากเวปไซต์ของมติชนแล้วเช่นกัน) ตามมาด้วยงานหนังสือเด็กเมื่อ 5 ปีก่อนกับสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ ปิ่นโตสามัคคี ซึ่งขณะนี้กำลังจัดแสดงอยู่ที่เวโรนา-อิตาลี สองเล่มนี้มีความคล้ายกันตรงที่เต็มไปด้วยแอคชั่นของก๊วนแก๊งค์เด็กๆ เราบอกน้องๆ ว่าเวลาวาดภาพแบบนี้นอกจากจะมีภาพอ้างอิงที่มาจากวัยเด็กของตัวเองแล้ว เรายังทดลองทำแอคชั่นต่างๆ ตามท่าทางที่ต้องวาดเพื่อให้เข้าใจได้ใกล้เคียงความรู้สึกของเด็กๆ เวลาทำท่าทางนั้นๆ อีกด้วย
และถ้าว่าถึงเรื่องแอคชั่นของเด็กๆ เราจะเข้าใจได้อย่างไรถ้าไม่ไปสังเกตเด็กจริงๆ เล่นกัน ครั้งนี้เราเลยนำเซ็ตภาพเด็กญี่ปุ่นที่เคยถ่ายไว้ช็อตต่อช็อตประมาณ 200 กว่าใบมาให้น้องๆ ได้ดู แต่แน่นอนว่าเราไม่แนะนำให้น้องๆ ทำตามนะคะเพราะมันผิดกฎหมาย(แต่ตอนถ่ายตอนนั้น-ซึ่งก็นานมากแล้ว พี่เองก็ยังไม่รู้เหมือนกันน่ะสิ!) โอ๊ตเสริมว่า จริงๆ การออกไปถ่ายภาพมาเป็นข้อมูลทำงานนี่เร็วกว่าการมานั่งหาภาพอ้างอิงใน pinterest อีกนะ ซึ่งอันนี้ก็เห็นด้วยเหมือนกันเนื่องจากภาพถ่ายจาก pinterest เองก็ไม่ได้มาจากสายตาและมุมมองของเรา ดังนั้นถ้าจะหาภาพอ้างอิงตามที่เราต้องการมันจะเสียเวลามาก สู้ออกไปถ่ายเองจะตรงเป้ากว่าเยอะ
แต่ถ้าเราต้องมาเจองาน commission ที่เราไม่ได้มีประสบการณ์ตรงและไม่สามารถออกไปหาข้อมูลถึง ณ สถานที่นั้นๆ ได้ละ (เช่นบรรยากาศร้านเครื่องหนังในปารีส) เราจะทำอย่างไร คำตอบก็คือ ต้องใช้ข้อมูลแห้ง(อินเตอร์เน็ต)อย่างไม่มีทางเลือกค่ะ แต่มีเทคนิคเล็กน้อยคือ ให้เราจินตนาการว่าตัวเองเสมือนเป็นนักท่องเที่ยวที่ได้เข้าไปเยือนในสถานที่นั้นจริงๆ ค่ะ
ส่วนการวาดภาพปกงานวรรณกรรมแปลนั้นอาจมีตัวช่วยในแง่ที่ว่าเรายังมีโอกาสได้ “อ่าน” จนสามารถจับ mood and tone ในงานที่เรานำมาเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ส่วนตัวบางอย่างของเราได้ เมื่อนำมาผสมผสานเข้ากับข้อมูลแห้งที่เรามีก็ช่วยให้เราสามารถวาดออกมาได้เช่นกัน
มาถึงโปรเจคส่วนตัวและสมุดสเก็ตซ์กันบ้าง เราบอกน้องๆ ว่ามีงานที่พี่ทำต่อเนื่องมา 7 ปีแล้วแต่ทำไม่เสร็จเสียที (ต่อเมื่อเรือฝันของฉันกลับบ้าน – When My Dream Boat Comes Home) และตอนนี้พี่รู้แล้วว่าทำไม สาเหตุก็มาจากการที่จับเรื่องที่ยากเกินไปมาวาดค่ะ งานชุดนี้ทำมาจากบทกวีของคุณประกาย ปรัชญา กวีไทยร่วมสมัย เนื้อหาเกี่ยวกับคนที่ต้องกลับไปเยือนบ้านเก่าและพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว (ต่อเมื่อเรือฝันของฉันกลับบ้าน ดอกช่อแดงฉานรายลานร่วงหล่น แปลกถิ่นแปลกท่า แปลกหน้าผู้คน หลงเวียนถนน หลงวนภวังค์ ต่อเมื่อเรือฝันของฉันกลับบ้าน เกาะเศร้าบรรสารน่านน้ำขรึมขลัง อวลละอองลมคมปะการัง ขอบฟ้าคือฝั่งคือหวังวาดวาย ต่อเมื่อเรือฝันของฉันกลับบ้าน ตรู่ชื่นคืนหวานผ่านกาลผ่านหาย เลาะรั้วเก่าหักและรักกลับกลาย เขียวครามความหมายแต่ภายในตน) เขาบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในชีวิตเขานั้นทั้งดีและร้าย มีเพียงแต่เขาผู้เดียวเท่านั้นที่จะรู้และทำความเข้าใจได้-เขียวครามความหมายแต่ภายในตน เพราะฉะนั้นเลยบอกน้องๆ ไปว่าประสบการณ์ชีวิตของตัวพี่เองเมื่อ 7 ปีก่อนซึ่งกำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยนั้นยังไม่เพียงพอที่วาดเรื่องนี้ออกมาได้ แต่ว่างานชุดนี้ก็ไม่ได้สูญเปล่าเพราะมันได้กลายมาเป็นเป็นพื้นฐานให้กับงานชุดปัจจุบันที่พี่กำลังทำอยู่นั่นเอง
สมุดสเก็ตซ์ที่นำไปให้น้องๆ ดู ก็เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจคนี้ด้วยค่ะ เต็มไปด้วยงานทดลองแบบต่างๆ ทั้งดรอว์อิ้งและคอลลาจ
มาถึงงานชุดสุดท้ายที่จะเป็นตัวอย่างในคลาส นั่นก็คือโปรเจคส่วนตัวชุดปัจจุบันที่เรากำลังทำอยู่ชื่อ Grandma (ดูภาพทั้งหมดได้ที่ yodchatbupasiri.com หรือ yodchattinyline.com ค่ะ) ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างยายและหลานทั้งก่อนและหลังคุณยายเริ่มแสดงอาการของภาวะ Mild Cognitive Impairment(MCI) หรือ การสูญเสียความสามารถของสมองเล็กน้อย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความจำ งานชุดนี้กำลังพัฒนาอยู่นะคะทั้งเนื้อเรื่องและภาพ
หลังหมดชั่วโมงแรกไปเราก็มาเริ่มตะลุยหนังสือภาพกันค่ะ จำได้ว่าตอนนั่งเลือกหนังสือไปจากบ้านนี่ยากมากๆ เพราะอยากขนไปให้ดูครบทุกเล่มเลย ผลสุดท้ายก็ได้หนังสืออัดแน่นเต็มกระเป๋าเดินทางขนาดเล็กสองใบค่ะ ข้างล่างนี้เป็นภาพบรรดาหนังสือก่อนที่จะจัดลงกระเป๋า (โอ๊ตบอกว่ามันเยอะเกินไป!)
เราเริ่มกันที่หนังสือของคุณครู Linda Wolfsgruber ค่ะ
ครูลินดาเคยมาเมืองไทยเมื่อสองปีก่อน ภาพข้างล่างนี้ทางซ้ายสุดคือคุณครู ตรงกลางคือพี่น้อย-วิลาสินี ทองศรี ผู้เป็นทั้งเพื่อนลูกศิษย์ของคุณครูลินดา (พี่น้อยเคยเข้าคอร์สภาพประกอบที่ Sarmede, Italy ซึ่งครูลินดาสอนอยู่ถึงสองครั้งด้วยกัน) ส่วนขวามือสุดคือเราเองค่ะ
เมื่อครูลินดามาเยี่ยมพี่น้อยที่ไทย เราจึงมีโอกาสได้เจอคุณครูที่น่ารักผู้นี้ แถมยังมีโอกาสได้นำพอร์ตโฟลิโอของตัวเองให้ครูดูด้วย ซึ่งครูก็แนะนำและให้กำลังใจเป็นอย่างดี (แอบหยอดน้องโอ๊ตไปแล้วว่าครูสอนดีจริงๆ อยากให้ครูมาสอนที่ CommDe เช่นกัน : ) )ภาพข้างล่างนี้เป็นหนึ่งในบรรดาหนังสือที่ครูมอบให้พี่น้อยไว้เป็นที่ระลึกซึ่งพี่น้อยก็อนุญาตให้เรานำไปให้น้องๆ ได้ดูกันด้วยค่ะ
ส่วนงานถัดมาคือเซ็ตหนังสือภาพของคุณ Eva Lindström นักทำหนังสือภาพชาวสวีดิช ด้วยความอนุเคราะห์ของสถานทูตสวีเดนประจำประเทศไทยเราจึงได้ติดต่อโดยตรงกับคุณ Eva และเธอก็ช่างใจดีส่งผลงานมาให้ไว้เป็นที่ระลึกสามเล่มค่ะ งานสามเล่มนี้ได้ถูกนำไปจัดทำเป็นอนิเมชั่นสั้นๆ อีกด้วย ลองชมตัวอย่างดูได้ที่ลิงก์นี้ค่ะ
ถัดมาเป็นหนังสือแปลที่น่ารักมากและเฮี้ยวมากชื่อว่า เอลซี่ตกส้วม (สามารถคลิกฟังใน youtube ได้เลยค่ะ) งานชุดนับเลขและ abc ของ Anno งานไตรภาคของ Blexbolex นอกจากนี้ยังมีหนังสือภาพว่าด้วยเรื่องความตาย ความทรงจำ การตีความเทพนิยายแบบใหม่ หนังสือภาพประกอบบทกวี ฯลฯ ของนักวาดจากหลากหลายประเทศ หนังสือหลายเล่มซื้อเก็บสะสมเวลาไปประเทศนั้นๆ บางเล่มสั่งออนไลน์ บางเล่มฝากเพื่อนซื้อและหลายเล่มก็ได้รับเป็นของฝากค่ะ
น่าเสียดายที่หนังสือบางเล่มไม่มีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เราเองก็ไม่มีงบพอที่จะจ้างนักแปลแปลเนื้อความให้ได้ทุกเล่ม แต่ถึงอย่างนั้น วิธีการเล่าด้วยภาพของหนังสือแต่ละเล่มนั้นก็ยอดเยี่ยมมากจนทำให้ผู้อ่านต่างชาติต่างภาษาอย่างเราๆ สามารถเข้าใจและซาบซึ้งไปกับตัวเล่มที่อยู่ตรงหน้าได้ค่ะ
มีเวลาเหลือเล็กน้อยให้ทุกคนแยกย้ายกันเลือกดูและถ่ายภาพหนังสือที่ตัวเองชอบ เป็นอันว่าจบคลาสที่เวลาเที่ยงพอดิบพอดี ^l^
และต่อไปนี้เป็นรายชื่อหนังสือทั้งหมดที่เรานำไปให้น้องๆ ดูกันนะคะ
1. Tage ohne dich by Linda Wolfsgruber
2. Glück ist Glod by Linda Wolfsgruber
3. Finns Land / Text by Heinz Janish Illustration by Linda Wolfsgruber
4. Allerlei Rausch / Text by H.C. Artmann Illustration by Linda Wolfsgruber
5. Wo hört das Meer auf? / Text by Heinz Janish Illustration by Linda Wolfsgruber
6. En fägeldag by Eva Lindström
7. Min Vän Lage by Eva Lindström
8. Jag rymmer! by Eva Lindström
9. Snömannen / Text by Eva Susso Illustration by Benjamin Chaud
10. The Story of Elsie / Text by Margret Rettich Illustration by Evelyn Daviddi
11. ABC by Julie Morstad
12. ABC by Anno
13. People by Blexbolex
14. Seasons by Blexbolex
15. Ballata by Blexbolex ( เบื้องหลังการทำงาน )
16. Lost Property by Andy Poyiadgi
17. Pieces of Love by Kato Kunio and Hirata Kenya
18. Grandfather’s Journey by Allen Say
19. Opas Engel by Jutta Bauer
20. Grandpa by John Burningham
21. Michael Rosen’s SAD BOOK / Text by Michael Rosen Illustration by Quentin Blake
22. La visite de petite mort by Kitty Crowther
23. Via Curiel 8 by Mara Cerri and Magda Guidi
24. il nuotatore / Text by Paolo Cognetti Illustration by Mara Cerri
25. la pantera sotto il letto / Text by Andrea Bajani Illustration by Mara Cerri
26. La Piscina by Ji Hyeon Lee ( เบื้องหลังการทำงาน )
27. Il Doppio / Text by David Cali Illustration by Claudia Palmarucci
28. Au clair de la nuit / Text by Janine Teisson Illustration by Joanna Concejo
29. Les visages du lointain / Text by Rafael Concejo Illustration by Joanna Concejo
30. Le Petit Chaperon rouge / Text by Charles Perrault / Text by Jacob & Wilhelm Grimm Illustration by Joanna Concejo ( เบื้องหลังการทำงาน )
31. entrez! / Text by Sébastien Joanniez Illustration by Joanno Concejo
32. L’angelo delle scarpe / Text by Giovanna Zoboli Illustration by Joanna Concejo
33. il signor nessuno by Joanna Concejo
34. The Bookmaker’s Studio by Jake Green
35. The Iron Giant / Text by Ted Hughes Illustration by Laura Carlin
สูจิบัตร
1. Bologna Children’s Book Fair Illustration annual 2012
2. i colori del sacro il viaggio Settima rassegna internazionale di illustrazione
3. i colori del sacro a tavola Ottava rassegna internazionale di illustrazione
*** : ) ***
Photo credit : Oat Montien